ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กรุงเทพฯ ทรุดตัว นับวันคนและบ้านเรือนในกรุงเทพฯ เสี่ยงเผชิญน้ำท่วมถี่และหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้สาเหตุที่น้ำทะเลสูงขึ้น เกิดจากโลกร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายลงรวดเร็ว โดยเฉพาะแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ในทวีปแอนตาร์กติกที่ละลายเร็วมาก มีการประเมินว่าหากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายหมด น้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 6 เมตร โดยนอกจากน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว อุณหภูมิน้ำทะเลก็สูงขึ้นด้วยเพราะน้ำในมหาสมุทรดูดซับความร้อนที่มนุษย์สร้างไว้มากถึง 90% มีการประเมินว่าในปี 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า กว่า 40% ของพื้นที่กรุงเทพฯ เสี่ยงถูกน้ำท่วมเสียหาย ทั้งจากปริมาณฝนที่ตก และกรุงเทพฯ ที่จมหรือทรุดตัวลง โดยเมื่อปี 2017 องค์กร Germanwatch ได้จัดทำดัชนีวัดความเสี่ยงจากปรากฏการณ์โลกร้อน ผลปรากฏว่าไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากสุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์น้ำท่วมบ้านเมือง ผืนดินหายไป เกิดขึ้นทั่วโลก เฉพาะในอาเซียน กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองหลวงเดียวที่เสี่ยงจมน้ำ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย กรุงมะนิลา เมืองหลวงฟิลิปปินส์ โฮจิมินห์ เมืองสำคัญของเวียดนาม ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน มีการประเมินว่าเมืองโฮจิมินห์เสี่ยงจมน้ำหรือได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่าครึ่งหนึ่งของเมือง และประชากรราว 1 ใน 4 ของเวียดนามที่อาศัยอยู่บนบกเสี่ยงถูกน้ำท่วม งานศึกษาบางชิ้นระบุว่า กรุงเทพฯ เวนิส และนิวออร์ลีนส์ เป็น 3 เมืองที่อัตราการจมสูงกว่าอัตราการเพิ่มของระดับน้ำทะเลถึง 10 เท่า แต่ละปีพื้นดินกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยทรุดตัวปีละ 2 ซ.ม. บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 50 ซ.ม. เท่านั้น ยิ่งน้ำทะเลหนุนสูงเร็วขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้กรุงเทพฯ เสี่ยงจมไวขึ้น หลายประเทศให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และเตรียมรับมือแล้ว เช่น รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศเมื่อปี 2563 จะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปที่เกาะเบอร์เนียว รัฐกาลิมันตัน เนื่องจากเมืองจาการ์ตาก็ถูกคาดการณ์ว่า พื้นที่ชายฝั่งกว่า 95% จะจมน้ำในปี 2590 ทั้งนี้สำหรับกรุงเทพฯ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเคยเสนอมาตรการรับมือกรุงเทพฯ จมน้ำไว้ตั้งแต่ปี 2555 คือ ควรมีกฎหมายว่าด้วยระบบเตือนภัย ป้องกันภัย และบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะแบบมีส่วนร่วม นอกจากนี้ควรกำหนดมาตรการหรือข้อกำหนดทางผังเมือง เพื่อจัดการและป้องกันภัยพิบัติ โดยเน้นคำนึงถึงคุณภาพชีวิตหรือความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ยังเสนอให้ใช้มาตรการด้านสิ่งก่อสร้าง เช่น คันล้อมเมือง เขื่อน/พนังกั้นน้ำ คลองผันน้ำเลี่ยงเมือง และมีมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการทางสังคม รัฐบาลไทย และผู้บริหารกรุงเทพฯ ควรเตรียมรับมือปัญหากรุงเทพฯ จมน้ำ เพราะจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การขนส่งของประเทศ GDP ของประเทศกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ถ้ากรุงเทพฯ จมน้ำจะส่งผลต่อธุรกิจและประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลไทยควรวางแผนอย่างจริงจัง ตรวจสอบความเสี่ยงน้ำท่วมของพื้นที่ต่างๆ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ และทำผังเมืองรองรับปัญหาในอนาคตอย่างเหมาะสม #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เป็นกำลังใจให้ชาวกรุงเทพฯ ทุกคน ขอบคุณที่มา https://news.ch7.com/detail/522118